วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ปุ๋ยหมักน้ำ

ปุ๋ยหมักน้ำ

ปุ๋ยหมักน้ำหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เป็นผลผลิตจากการนำวัสดุเหลือใช้ หรือกากวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษขยะจากครัวเรือน ขยะจากตลาดสด เศษวัสดุจากโรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ นำมาหมักโดยเติม กากน้ำตาลหรือเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ สำหรับวิธีการหมัก แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบหมักให้อากาศและแบบหมักอับอากาศ โดยขบวนการหมักมี 2 ขั้นตอน คือ กระบวนการพลาสโมไลซีส เป็นการเติมกากน้ำตาล หรือน้ำตาล เพื่อดึงน้ำเลี้ยงออกจากเซลล์พืช เช่น กรดอะมิโนโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไลปิด ฯลฯ และ ขั้นตอนที่ 2 เป็นการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้สารอินทรีย์ถูกย่อยสลายเล็กลง และอาจจะมีการสร้าง สารอินทรีย์บางชนิดขึ้นมา และการย่อยสลายของจุลินทรีย์ทำให้การปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา แต่ทั้งนี้ ปริมาณอาหารพืชชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่กับเศษวัสดุที่เป็นวัตถุดิบในการหมัก


สารที่พบในปุ๋ยน้ำหมักและการใช้ประโยชน์

จากรายงานผลการวิเคราะห์ปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ เช่นสูตรปุ๋ยปลาของสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วท.) ซึ่งใช้เศษปลาบดย่อย 100 ก.ก. กรดฟอร์มิก (98 %) 3.5 ลิตร และน้ำตาลทรายแดง 20 ก.ก. หมัก 28 วัน พบว่ามีไนโตรเจน (N) 0.2 % ฟอสฟอรัส (P) 0.05 % และโปแตสเซียม (K) 1 – 2 % และมีธาตุอาหารรองหลายชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และแมงกานีส นอกจากธาตุอาหารแล้ว ยังมีฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ออกซิน จิบเนอเรลสิน ไซโตคินิน ขึ้นกับวัตถุดิบ ในการนำมาหมัก โดยเฉพาะวัตถุดิบจากเศษพืช

ปัจจุบันมีการนำปุ๋ยหมักน้ำมาใช้ในการปลูกพืชกันอย่างกว้างขวาง และหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้ส่วนใหญ่เน้นหนักในเรื่องการส่งเสริมการเจริญเติบโต ของพืช ซึ่งนักวิชาการด้านการเกษตรได้แนะนำ ให้ใช้ควบคู่กับปุ๋ยเคมี หรืออินทรีย์วัตถุชนิดอื่น ร่วมไปด้วย เพราะเห็นได้จากผลการวิเคราะห์ว่ามีธาตุอาหารอยู่ในปริมาณค่อนข้างน้อย และส่วนมากจะได้ผลดี กับการฉีดพ่นให้ทางใบ นอกจากคุณสมบัติในด้านให้ธาตุอาหารแก่พืชแล้ว ยังมีคุณสมบัติในด้านการขับไล่หรือป้องกันแมลง เช่น การยับยั้งการลอกคราบของแมลง ซึ่งอาจมีผลมาจากสารไคตินที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกหรือเปลือกกุ้ง ปลา และผลชัดเจนของปุ๋ยน้ำหมัก คือการดับกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของเอนไซม์ จากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ในการนำไปใช้ประโยชน์ต้องผสมน้ำ เพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำหมักให้ความเค็มลดลง ป้องกันการเกิดใบไหม้ในพืช โดยส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้อัตราส่วน 1 : 500 หรือ 1 : 1,000 ขึ้นกับวัตถุดิบที่ใช้จัดทำว่ามีความเค็มมากน้อยเพียงใด

สูตรปุ๋ยหมักที่น่าสนใจ

เป็นสูตรปุ๋ยหมักน้ำที่หลากหลาย จากการคิดค้นของหน่วยราชการและเกษตรกรผู้ใช้ ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้รวบรวมสูตรปุ๋ยน้ำหมักจากแหล่งต่างๆ ได้ 7 ประเภท ตามชนิดของวัตถุดิบ ในการหมัก คือ ปุ๋ยหมักน้ำจากพืชสด ผลไม้ หอยเชอรี่ ปลา มูลสัตว์ ขยะในครัวเรือน และสูตรรวมมิตร ซึ่งมีสูตรที่น่าสนใจ ดังนี้

1. สูตรการทำปุ๋ยน้ำหมักจากพืชสด

ใช้พืชใบเขียวทุกชนิดหมักกับกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง ในอัตราส่วน 10 : 1 หรือใช้เศษพืชผัก 10 ก.ก. กับกากน้ำตาล 1 ก.ก. หมักนาน 15 – 30 วัน ใช้ได้

2. ปุ๋ยหมักน้ำที่ผลิตจากผลไม้หรือการทำฮอร์โมนพืช

ใช้ผลไม้เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ฟักทองแก่จัด มะละกอสุก 1 ก.ก. สับให้ละเอียดผสมกับน้ำหมักพืช 2 ช้อนแกง กากน้ำตาล 2 ช้อนแกง และน้ำสะอาด 2 ลิตร หมัก 7 – 8 วัน นำไปใช้ได้

3. การทำปุ๋ยหมักน้ำจากหอยเชอรี่

ใช้หอยเชอรี่ทั้งเปลือกทุกให้ละเอียด ผสมกับกากน้ำตาลและน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ (สับปะรดสุก 3 ส่วน โมลาส 1 ส่วน น้ำมะพร้าว 1 ส่วน หมัก 7 – 10 วัน) อัตราส่วน 3 : 3 : 1 ใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือน

4. ปุ๋ยปลาหมักเป็นสูตรของ วท.

ใช้เศษปลาบดย่อยแล้ว 100 ก.ก. ผสมกับกรดฟอร์มิก 3.5 ลิตร และน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล 20 ก.ก. หรือ 20 ลิตร หมักไว้ประมาณ 1 เดือน และคนเป็นครั้งคราว ใช้ในอัตราส่วนผสมน้ำ 1 : 50 หรือ 1 : 100

5. สูตรปุ๋ยน้ำหมักจากมูลสัตว์ ของวัดญาณสังวรวรารามมหาวิหาร จ.ชลบุรี

ใช้
รำละเอียด 60 ก.ก. ผสมมูลไก่ 40 ก.ก. และเชื้อผง 1 ซอง (1ซองผสมน้ำ 20 ลิตร)

หมายเหตุ เอกสารอ้างอิง วารสารเคหการเกษตร ปีที่ 25 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2544

ไม่มีความคิดเห็น: