วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์……ไส้เดือนดิน

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์……ไส้เดือนดิน

Posted by: อลิสรา คูประสิทธิ์ (Alissara Kuprasit) in ห้องเรียนวิทยาศาสตร์, เกษตรน่ารู้, เทคโนโลยีสำหรับชนบท ไส้เดือนดิน จัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์ (Animalia) ศักดิ์แอนนิลิดา (Phylum: Annelida) ชั้น (Class: Oligochaeta ) ตระกูล (Order: Opisthopora) โดยมีการจำแนกวงศ์ (Family)ไว้ 21 วงศ์ และทั่วโลกมีมากกว่า 4,000 ชนิด สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินได้แก่ ความชื้นของดินหรืออาหารที่ไส้เดือนอยู่ประมาณ 60-80%, อุณหภูมิประมาณ 15-28 องศาเซลเซียส และมีความเป็นกรด-ด่างเป็นกลาง
1. วงจรชีวิตของไส้เดือนดิน
ไส้เดือนดินเป็นสัตว์ที่มี 2 เพศในตัวเดียวกัน แต่การสืบพันธุ์เป็นแบบผสมข้าม (จับคู่ผสม) กับไส้เดือนดินตัวอื่น วงจรชีวิตของไส้เดือนดินจึงประกอบด้วย ระยะถุงไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย
2. บทบาทของไส้เดือนดิน
ไส้เดือนดินส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช แต่ก็มีบางกลุ่มที่เป็นโทษ
2.1 ด้านที่เป็นประโยชน์
  • ช่วยในการปรับปรุงดินและสภาพแวดล้อม ทำให้ดินร่วนซุย
  • ช่วยกระจายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
  • ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
  • เป็นแหล่งโปรตีนของอาหารสัตว์
  • เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดินและสารพิษที่ปนเปื้อนในดิน
2.2 ด้านที่เป็นโทษ
  • เป็นตัวนำพาเชื้อโรคพืชมาสู่พืช
  • เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดปรสิตสู่พืช
  • บางชนิดมีผลทำให้ดินจับตัวเป็นก้อนจนไม่สามารถปลูกพืชได้ เนื่องจากมีสารเคลือบอยู่ที่ก้อนดิน 
3. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดิน
ปัจจุบันไส้เดือนดินทั่วโลกที่นำมาใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์หรือวัสดุ เหลือทิ้งทางการเกษตรในรูปแบบของการค้า เช่น จำหน่ายพันธุ์ และมูลไส้เดือนเพื่อใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น มีประมาณ 15 สายพันธุ์เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมีการนำมาวิจัยประมาณ 8 สายพันธุ์ แต่ที่มีการส่งเสริมจนเป็นการค้ามีประมาณ 3 สายพันธุ์คือ ไทเกอร์วอร์มหรืออายซิเนีย ฟูทิดา (Eisenia foetida),  อัฟริกัน ไนท์ ครอเลอร์หรือยูดริลลัส ยูจินิแอ (Eudrillus eugeniae) และ ขี้ตาแร่หรือฟีเรททิมา พีกัวนา (Pheretima peguana)
3.1 รูปแบบของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดินในประเทศไทย
  • การเลี้ยงไส้เดือนดินในตระกร้าหรือกระบะวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ
  • การเลี้ยงไส้เดือนดินในชั้นพลาสติก
  • การเลี้ยงไส้เดือนดินในวงบ่อซีเมนต์
  • การเลี้ยงไส้เดือนดินในซองซีเมนต์หรือซองบล็อกประสาน
ควรวางระบบระบายน้ำปุ๋ยหรือรองรับน้ำปุ๋ยที่มาพร้อมกับมูลไส้เดือนดิน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปุ๋ยขัง เพราะอาจทำให้ไส้เดือนดินขาดอากาศและตายได้
3.2 อาหารสำหรับไส้เดือนดิน
  • ขยะอินทรีย์จากครัวเรือนหรือตลาด
  • มูลสัตว์
  • เศษตอซังพืชจากภาคการเกษตร
4. ปัญหาและอุปสรรคของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดิน
4.1 การเก็บมูลไส้เดือนมักติดถุงไข่และตัวอ่อนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนไส้เดือนลดลง ประสิทธิภาพในการผลิตมูลไส้เดือนลดลงด้วยเช่นกัน
 4.2 สิ้นเปลืองพลังงานและต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการต้องใช้เครื่องมือหรือเครื่อง จักรมาแยกไส้เดือนดินออกจากมูล เช่น การใช้แสงไฟไล่ หรือเครื่องคัดแยกตัวไส้เดือนดิน
4.3 ไม่ควรใช้เศษพืช อาหาร และมูลสัตว์ ที่มีความเป็นกรด-ด่างสูง หรือเศษอาหารที่มีน้ำมันปนอยู่ เพราะเป็นอันตรายต่อไส้เดือนดิน
4.4 สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อไส้เดือนดิน เช่น ไก่ นก หนู และมด เนื่องจากเศษพืชผักเป็นอาหารของสัตว์เหล่านี้ รวมทั้งไส้เดือนดินด้วย
5. เทคนิคการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดินโดยตั้งกองแบบปริซึมสามเหลี่ยม
ปัญหาสำคัญของผู้เลี้ยงไส้เดือนดินสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์คือการเก็บมูล ไส้เดือน เพราะถ้าเก็บไม่ถูกวิธีก็จะติดทั้งตัวอ่อนและถุงไข่ของไส้เดือน ทำให้มีปริมาณของไส้เดือนลดลง จึงไม่มีไส้เดือนดินสำหรับผลิตปุ๋ยหรือจำหน่ายพันธุ์ในระยะยาวได้ ดังนั้นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาการเลี้ยงไส้เดือนดินกองรูปปริซึมสามเหลี่ยมและให้อาหารด้านเดียว         
การทำฐานที่อยู่อาศัย
ผสมดินกับมูลสัตว์ในอัตราส่วน 4:1 และปรับความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วเกลี่ยให้มีความสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ควรทำซองหรือคอกสำหรับกั้นสัตว์เลี้ยงมาคุ้ยเขี่ยและตาข่ายคลุมเพื่อกันนก หรือหนู
จำนวนไส้เดือนดิน
ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
การเพิ่มประชากรไส้เดือนดิน
เติมอาหาร เช่น มูลสัตว์ผสมกับเศษผักหรือผลไม้ โดยมีความหนาครั้งละไม่เกิน10 เซนติเมตร เมื่ออาหารหมดให้เติมอาหารใหม่ จนกระทั่งมีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตร
การตั้งกองรูปปริซึมสามเหลี่ยม
แต่งกองไส้เดือนใหม่ให้เป็นรูปคล้ายกับปริซึมสามเหลี่ยม ฐานกว้างและสูงประมาณ 45 เซนติเมตร
การให้อาหาร
หลังจากนั้นนำอาหารมาใส่เพียงหน้าเพียงด้านเดียวของกองแบบปริซึมสาม เหลี่ยมให้มีความหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่ออาหารหมดก็ทยอยเติมด้านเดียวไปเรื่อยๆ
การเก็บมูลไส้เดือน
ส่วนอีกด้านของกองอาหารที่ไส้เดือนกินหมดแล้ว ปล่อยให้ความชื้นลดลงจนไม่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ จึงปาดมูลของไส้เดือนดินออกมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์
สนใจติดต่อ
สถานีวิจัยลำตะคอง
333 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130
โทรศัพท์ 044-390107 และ 044-390150 แฟกซ์ 044-390107
E-mail: lamtakhong@tistr.or.th

ไม่มีความคิดเห็น: